เสรีภาพ เสรีชน : ทำอะไรไม่ใช่ตามใจตน
เสรีภาพเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษยชาติที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ การกำหนดขอบเขตของเสรีภาพมีความชัดเจนมากขึ้นภายหลังเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบของปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องของสิทธิมนุษยชน หลังจากการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติชึ่งประกอบด้วยสมาชิกประเทศต่างๆ ได้มีการลงมติรับรองเรื่องสิทธิมนุษยชนและประกาศใช้เป็นปฏิญญาสากลเพื่อให้เป็นหลักการและอุดมการณ์ที่สำคัญในการคุ้มครองสิทธิของมนุษยชาติเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2491 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปฏิญญาฉบับนี้จะไม่ใช่สนธิสัญญาระหว่างประเทศแต่มีลักษณะเป็นจารีตกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศต่างๆ จะต้องให้ความเคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชนที่ได้ตราไว้ สิทธิของมนุษยชาติที่ถูกเขียนไว้ในปฏิญญาฉบับนี้มีทั้งหมด 30 ข้อ
อัตถิภาวนิยมความชื่นชมของเสรีภาพ
หลายคนมักเข้าใจว่าเสรีภาพคือสิทธิในการกระทำการใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นคำที่นิยมนำมาผนวกรวมใช้กับคำว่าสิทธิเสรีภาพจนดูจะกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ทั้งนี้เสรีภาพหมายถึงอำนาจการตัดสินใจของมนุษย์ที่จะเลือกดำเนินพฤติกรรมด้วยตนเองโดยไม่มีบุคคลอื่นใดมาชี้นำชี้อ้างหรือใช้อำนาจแฝงแทรกแซงเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจนั้น เสรีภาพ (Liberty) เป็นเจตจำนงเสรี (Free will) และเป็นปรากฏการณ์ของมนุษย์ที่ปราศจากการกดขี่และการถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งทางตรงและทางอ้อม เสรีภาพคือ อำนาจของผู้คนที่จะกำหนดตนเอง (Self-determination) โดยอำนาจนี้ย่อมเลือกวิถีชีวิตได้ด้วยตนเอง เสรีภาพจึงมีความหมายต่างกับสิทธิ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเสรีภาพใดมีรัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองเสรีภาพนั้นก็อาจเป็นสิทธิด้วยจึงรวมเรียกว่าสิทธิเสรีภาพซึ่งแต่ละประเทศได้มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งนี้จะมีความสอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่ได้ประกาศไว้ปฏิญญาสากลด้วย
หากมองย้อนกลับไปที่แนวคิดในการสร้างเสรีภาพของมนุษย์นั้น คือแนวคิดปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ซึ่งนักปรัชญาซอเรอน โอเบย เคียร์เกอร์ก (Soren Aabye Kierkegaard) ชาวเดนมาร์กได้นำเสนอแนวคิดนี้โดยให้ความสำคัญในตัวตนและ ประสบการณ์ (Self and Experience) ของมนุษย์ว่าแต่ละคนว่ามีลักษณะเฉพาะ (Specialty)
ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อการทำความเข้าใจในการมีอยู่และดำรงอยู่ของมนุษย์ทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้นแนวคิดของปรัชญานี้แสดงให้เห็นถึงความคิดในอิสรภาพและยอมรับในผลสืบเนื่องจากการกระทำ (The Sequel) ของมนุษย์แต่ละคน แนวคิดของปรัชญานี้ยังให้ความสำคัญในการตัดสินใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจากการ
กระทำของตนเองที่จะต้องมีความรับผิดชอบกับทางเลือกที่ได้เลือกไว้ด้วย แนวคิดปรัชญาอัตถิภาวนิยมให้ความสำคัญกับอัตวิสัย (Subjectivity) และมองว่ามนุษย์มีลักษณะการดำเนินชีวิตอยู่ในโลกที่ไม่ได้มีอะไรพิเศษและเต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน
เพราะฉะนั้นการที่จะชัดเจนในโลก (The Clearness of Secular) จะต้องเข้าใจในตัวตนของตนเองเองถึงจะเข้าใจในโลกได้อย่างถ่องแท้
เสรีภาพของเสรีชน
ความใฝ่ฝันสูงสุดของมนุษยชาติหรือผู้คนนั้นคือการได้มาซึ่งเสรีภาพ ยังมีผู้คนจำนวนมากที่เข้าใจคลาดเคลื่อนในคำว่าเสรีภาพ เสรีภาพมิใช่ว่าจะทำอะไรตามใจตนเอง เสรีภาพมีขอบเขตภายในการ
กระทำ แต่ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจในคำนี้อย่างถ่องแท้จึงส่งผลให้เกิดความวิปลาสและความสับสนในสังคมขึ้น ตั้งแต่ปี ค.ศ.1921 เอ เอส นีล (A.S. Neill) นักปรัชญาการศึกษาชาวอังกฤษที่ได้นำแนวคิดเรื่องของเสรีภาพเข้ามาปลูกฝังในตัวของผู้เรียนที่โรงเรียนซัมเมอร์ฮิลล์ (Summer Hill School) ซึ่งความจริงสูงสุด (Metaphysics) ของแนวคิดนี้ต้องการที่จะบ่มเพาะผู้เรียนในเข้าใจและยึดมั่นในตัวตนของตนเอง แนวคิดนี้ประกอบด้วยทางเลือก (Choice) เสรีภาพ (Freedom) และความรับผิดชอบ (Responsibility) จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้มีโอกาสไปศึกษาวิถีชีวิตของนักเรียนที่นี่รวมทั้งการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนนี้เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่านักเรียนจะสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้บนพื้นฐานของเสรีภาพของตนเองแต่จะไม่ไปรบกวนหรือก้าวก่ายหรือแสดงอากัปกิริยาที่ไม่เหมาะสมกับนักเรียนคนอื่นถึงแม้ว่าเขา/เธออยากจะทำกิจกรรมอะไรที่อยู่ในระหว่างการเรียนการสอนก็ตาม สิ่งนี้ถือว่าเป็นการแสดงออกที่ดีอย่างยิ่ง และถ้าหากผลการเรียนออกมาเป็นเช่นไรนักเรียนเหล่านี้จะไม่กล่าวโทษผู้สอนแต่อย่างใดทั้งสิ้นเพราะถือว่า ตนเองได้เลือกที่จะทำแล้วและรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา
หันมาชำเลืองดูการเรียกร้องความเป็นเสรีภาพหรือการแสดงออกบนคำว่าเสรีภาพของแต่ละคนบ้าง มีผู้ใหญ่หลายคนที่นำเอาเสรีภาพมาผนวกกับอำนาจที่ตนมีในทางที่ผิด ตัวอย่างเช่น การสั่งการที่ไม่มีการพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบว่าผลที่จะเกิดขึ้นในภาพรวมจะเป็นอย่างไร ลักษณะเช่นนี้คือการใช้อำนาจนำ (Hegemony) ในทางที่ไม่ถูกต้อง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีเด็กเยาวชนที่มีการใช้เสรีภาพของตนเองในทางที่ผิดจนส่งผลต่อสภาพสังคมที่ดีงาม การเรียกร้องหรือการแสดงออกของเสรีภาพบนพื้นฐานของประชาธิปไตยพึงกระทำดังนี้
1.Choice ทางเลือก การแสดงออกของเสรีชนบนแนวคิดของเสรีภาพนั้นทั้งเด็กเยาวชนและผู้ใหญ่จะต้องมีการคิดไตร่ตรองให้รอบคอบในการนำทางเลือกที่ดีและเหมาะสมจะช่วยนำมาซึ่งการพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน แต่ปัจจุบันทางเลือกที่นำมาใช้ส่วนมากเห็นปรากฏออกมาในลักษณะที่ข่มขู่หรือไม่ก็ใช้อำนาจในการบังคับกับผู้ที่มี “อำนาจและกำลัง” น้อยกว่า
2.Freedom เสรีภาพ เสรีภาพจะต้องอยู่ในขอบเขตของสิทธิที่พึงกระทำ ทั้งนี้เด็กเยาวชนหรือผู้ใหญ่จะต้องมีการศึกษาถึงสิทธิของตนเองให้เข้าใจอย่างกระจ่างเพื่อที่จะไม่ทำให้เสรีภาพผุกร่อนไปในความหมายที่ผิด เสรีภาพที่ดีจะต้องตระหนักว่ามีอะไรบ้างที่เป็นการแสดงออกในสิ่งที่ไม่ขัดกับครรลองของสังคมในการยอมรับ อย่างไรก็ตาม ยังมีภาพที่เกิดขึ้นในสังคมที่ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นดูเหมือนว่าเป็นการเข้าใจในสิทธิของตนเองอย่างผิวเผิน สุดท้ายเกิดการต่อสู้หรือบางครั้งมีการกระทำที่นำมาซึ่งความรุนแรงและส่งผลให้เกิดความเสียหายมาสู่สังคม นอกจากนี้เสรีภาพในการกระทำบางเหตุการณ์กลายเป็นกรรมร่วมของสังคมอีกต่างหาก
3.Responsibility ความรับผิดชอบ ถือว่าเป็นความยิ่งใหญ่ที่ทุกคนไม่ว่าเด็กเยาวชนหรือผู้ใหญ่จะต้องแสดงออกในความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองที่เกิดขึ้น “ความรับผิดชอบที่ดีและมีคุณค่าต้องยอมรับในการกระทำ ถ้าเป็นผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะต้องให้การยกย่องและชมเชยผู้ร่วมกระทำการนั้นๆ ด้วย แต่ถ้าเป็นผลเสียต้องระลึกถึงโทษของตนเองก็จะถือว่ามีความรับผิดชอบที่แท้จริง”
แต่ที่ผ่านมาหากเกิดความผิดพลาดในการกระทำหรือการดำเนินการต่างๆ ส่วนมากจะมีลักษณะ “รับชอบมากกว่ารับผิด” ซึ่งเห็นเกลื่อนทั่วไปทั้งสังคมระดับล่างจนถึงสังคมระดับสูง
เสรีชนบนฐานคิดที่ต้องไตร่ตรอง
คนส่วนใหญ่ยังติดกับดักในการกระทำของตนเองว่า ทำอะไรได้ตามใจตนคือเสรีภาพที่แท้จริง ซึ่งเป็นการเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เสรีชนที่ดีจะต้องเคารพกฎกติกาที่สังคมสร้างขึ้น บรรทัดฐานที่ง่ายที่สุดของเสรีชนคือการประพฤติตามบรรทัดฐาน ขนบจารีตประเพณีและวัฒนธรรมของสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ อนึ่ง พึงตระหนักว่าการกระทำที่นอกกรอบหรือนอกคอกแบบสร้างสรรค์ถือว่าเป็นการกระทำที่ดีแต่ทั้งนี้ไม่ใช่นอกกฎระเบียบกติกา การกระทำที่ดีของเสรีชนจะต้องมั่นคิดว่าเสรีชนคือ ผู้คนที่ได้รับการขัดเกลาและบ่มเพาะที่ดีงามและการกระทำที่เกิดขึ้นต้องส่งผลต่อการพัฒนาสังคมโดยรวมไม่ใช่สร้างความเสียหายแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
และที่สำคัญห้ามคิดว่า เสรีภาพคือทำอะไรก็ได้ ถ้าคิดในลักษณะเช่นนี้สังคมล่มสลายแน่นอน…-ขอรับเจ้านาย!!!
ธงชัย สมบูรณ์
"สมบูรณ์" - Google News
August 14, 2020 at 11:00PM
https://ift.tt/3iMUzRF
เสรีภาพ เสรีชน : ทำอะไรไม่ใช่ตามใจตน : โดย ธงชัย สมบูรณ์ - มติชน
"สมบูรณ์" - Google News
https://ift.tt/3cUwc1Q
Home To Blog
No comments:
Post a Comment