สถานศึกษาทุกระบบของการจัดการเรียนรู้จะถูกตีค่าว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ในการสร้างภูมิคุ้มกันทางชีวิตให้แก่ผู้เรียนในทุกยุคทุกสมัยและในทุกๆ สังคม สถานศึกษาทุกแห่งไม่เพียงแต่จะดำเนินงานทางการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถทางวิชาการแต่ยังคงบ่มเพาะการมีวิถีชีวิตที่ดีงามในสังคมด้วย ด้วยเหตุนี้การจัดการศึกษาจึงจะต้องสร้างบุพนิมิตที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้คนและการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกด้วย
โลกเปลี่ยนการศึกษาต้องเปลี่ยนจริงหรือ
มีคำถามที่อยากจะให้ลองมาพิจารณากันว่า เมื่อสังคมโลกเปลี่ยน มิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องเปลี่ยนตามด้วยหรือไม่ ผู้เขียนมองว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป (Transformation) ย่อมจะดีกว่าการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน (Change) และจะมีผลต่อการพัฒนาทุกๆ ด้านที่ดีกว่า เช่นเดียวกันกับการจัดการศึกษา ถ้าหากรัฐชาติมีการจัดการศึกษาแบบเร่งด่วน (Shock action) ผลที่ตามมาอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นเมื่อรู้ว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลง ผู้ที่มีอำนาจทางการบริหารจัดการทางด้านการศึกษาจำเป็นต้องศึกษาภาพฉายเชิงอนาคตของการศึกษาด้วยมิใช่ว่าดำเนินการ แบบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์ปัจจุบันคือ บทเรียนที่มีจะคุณค่ามหาศาลในอนาคต
กล่าวตามความเป็นจริงแล้วในแก่นแกนทางด้านการศึกษา (Pedagogy) นั้นอะไรก็ตามที่เป็นอารยวิถีของชุมชน หรือของรัฐชาติ การศึกษาไม่จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยน แต่ต้องมีวิธีการที่จะถ่ายทอดความรู้สึกร่วม (Collective belongings) ในสิ่งต่างๆ ที่บรรพบุรุษสั่งสมมา การศึกษาเช่นนี้เรียกได้ว่าเป็นการอนุรักษ์สิ่งดีงามทั้งมวล แต่ถ้าจะให้การศึกษามีความก้าวหน้าและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น การศึกษาต้องพิจารณาถึงเทคโนโลยีเชิงการผลิตการจัดการเรียนรู้ (The productive power of technology learning) ให้มากขึ้นก็จะดีต่อการพัฒนาทั้งปวง
จะสร้างสถานศึกษาให้เป็นองค์กรสมรรถนะสูงได้อย่างไร
โดยทั่วไปแล้วทุกองค์กรจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันแต่ ทั้งนี้ องค์กรหรือสถานศึกษานั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างอัตลักษณ์ และรูปลักษณ์ของตนเองให้มีลักษณะที่แตกต่างออกไปด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นองค์กรทางการศึกษามีหน้าที่สำคัญต้องผลิตผู้คนในรัฐชาติให้มีความรู้สึกนึกคิดที่ดี มีความรู้ความสามารถต่อการพัฒนารัฐชาติในทุกมิติต่อไป ด้วยเหตุนี้การที่จะสร้างสถานศึกษาให้เป็นองค์กรสมรรถนะสูงนั้นต้องมีการบริหารจัดการดังนี้
1 มิติการนำองค์กร สถานศึกษาทุกระดับทุกระบบจะต้องมีการสร้างสภาวะที่ดีในการนำองค์กร ถึงแม้ว่าคำกล่าวที่ว่า รากฐานของตึกคืออิฐ รากฐานของชีวิตคือการศึกษา ของหม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่เคยให้ข้อคิดที่ดีงามไว้ แต่ทั้งนี้ ชีวิตที่ดีงามนั้นจำเป็นจะต้องได้รับการศึกษาที่ถูกต้อง และเหมาะสมเฉกเช่นการนำอิฐมาก่อสร้างบ้าน ถ้าไม่มีคุณภาพที่ดีพอคงจะทำให้ไม่เกิดความคงทนถาวร สุดท้ายก็รื้อถอนได้ง่าย มองกลับมาด้านการศึกษาเช่นเดียวกัน ถ้าหากมีผู้นำที่ไม่มีความรู้และประสบการณ์ในด้านการศึกษา ความผุกร่อนจะตามมาและที่สำคัญจะต้องรื้อและเปลี่ยนแปลงตลอดไป ฉะนั้นการจัดการศึกษาที่ดีงามจำเป็นต้องมีผู้รู้และมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในขอบเขตของคำว่า คุณภาพการศึกษา ก็จะทำให้การบริหารจัดการทั้งปวงไม่สะดุดและชะงักงันและที่สำคัญ Stop Education is to stop the World หยุดการศึกษาคือ หยุดโลก อนึ่งในมิตินี้ผู้ที่อยู่ในระดับผู้นำจะต้องมีการเคารพกฎระเบียบทางราชการและระเบียบทางการศึกษาที่ดีงามด้วย เพราะยังมีภาพทางสังคมที่เห็นเกลื่อนและชัดเจน กล่าวคือ ยังมีสถานศึกษาบางแห่งที่ยอมให้ผู้เกษียณอายุราชการแล้วมาเป็นผู้นำในสถานศึกษา ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ดูว่าระบบราชการขาดความศักดิ์สิทธิ์และล้มเหลวที่สุด
2 มิติการกำหนดและวางแผนยุทธศาสตร์ มิตินี้ถือเป็นหัวใจในการกำหนดทิศทางของสถานศึกษาทุกระดับ การวางแผนยุทธศาสตร์ที่ดีนั้นต้องมีความท้าทายทั้งภายในสถานศึกษา (Internal challenges) ความท้าทายภายนอกสถานศึกษา (External challenges) และความท้าทายด้านอื่นๆ (Other challenges) การกำหนดและวางแผนยุทธศาสตร์ของการศึกษาที่ดีต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาสังคมเศรษฐกิจแห่งชาติด้วย และที่สำคัญไม่ควรมีระยะเกิน 10 ปี เพราะถ้ามีระยะยาวนานเกินไปผู้เขียนไม่มั่นใจว่าผู้ที่กำหนดและวางแผนยุทธศาสตร์เหล่านั้นจะได้เห็นความสำเร็จในสิ่งที่ตนได้ออกแบบไว้หรือไม่
3 มิติการให้ความสำคัญกับผู้เรียนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง สถานศึกษาทุกระดับจะต้องสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้เรียน ห้ามมิให้ผู้เรียนเกิดสภาวะที่ สมยอม ใดๆ ทั้งสิ้น การให้บริการทางการศึกษาที่ดีนั้นต้องคำนึงถึงมีวิธีการและช่องทางในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนเพื่อการพัฒนาทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่จะเกิดขึ้นด้วย
4 มิติด้านการสร้างความรู้และการถ่ายทอดความรู้ สถานศึกษาต้องสร้างความรู้ใหม่ให้กับผู้เรียนได้อย่างดีและมีระบบการถ่ายทอดความรู้นั้นๆ ผ่านระบบการสื่อสาร ระบบของเทคโนโลยีที่ทันสมัยและที่สำคัญจะต้องสอดรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้ ผู้นำของสถานศึกษาทุกระดับจำเป็นต้องศึกษาถึงความเหมาะสมของรูปแบบที่นำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับผู้เรียนด้วย แต่อย่างใดก็ตาม ถ้าการสร้างความรู้เพื่อการหา ลูกค้า มาเรียนเพื่อให้สถานศึกษาอยู่รอดนั้นก็ไม่สมควรอย่างยิ่ง การสร้างความรู้ที่ยิ่งใหญ่ให้กับผู้เรียนนั้นคือ การสร้างจริตในการรักที่จะเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสันติวิธีและที่สำคัญมากๆ คือ การสร้างผู้เรียนให้เป็นคนที่เข้าใจในคำว่า สถานการณ์ของชีวิต ก็จะเป็นเส้นทางในการสร้างภูมิคุ้มกันและทักษะลีลาชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5 มิติการมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล สถานศึกษาทุกระดับทุกระบบจะต้องให้ความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพและสมรรถนะของผู้คนในองค์กรมากขึ้น ตัวอย่างหนึ่งที่ผู้นำสามารถทำได้ง่ายๆ คือ มีการให้โอกาสแก่ทุกคนในการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดอย่างสร้างสรรค์และการนำแนวคิดไปวิเคราะห์ สังเคราะห์และออกแบบเพื่อการปฏิบัติในการปรับปรุงสถานศึกษาต่อไป ทั้งนี้ ผู้นำสถานศึกษาต้องมีวิธีคิดที่ว่า Put the right man on the right job, at the right time, in the right place. สร้างคนด้วยคุณค่า ด้วยเวลาที่เหมาะสม สร้างคนต้องธำรง ให้ถูกที่วิถีงาน
6 มิติการจัดการกระบวนการ มิตินี้จะครอบคลุมตั้งแต่กระบวนงานภายในสถานศึกษา กระบวนงานที่มีผลต่อผู้เรียนผู้มีส่วนร่วมอื่นๆ และกระบวนการที่มีผลต่อการพัฒนารัฐชาติแบบ
องค์รวมด้วย ทั้งนี้ มิติการจัดการกระบวนการต้องมีความเชื่อมโยงระหว่างการบริหารจัดการที่สร้างคุณค่าและมีความชัดเจนในการเลือกกระบวนการของงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมีคุณค่า (Value Creation) ด้วย กระบวนการจัดการศึกษาที่ดีนั้นจะเป็นหลักประกันในสร้างชาติที่ยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต มิติการจัดการกระบวนการที่ได้ผลและมีคุณค่านั้นต้องสอดคล้องกับคำที่ว่า พลังของชาติคือ การศึกษา พลังพัฒนาคือ ความร่วมมือ
7 มิติประเมินผลลัพธ์ของการดำเนินการ ในมิตินี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่สถานศึกษาต้องมีวิธีในการแสดงข้อมูลและผลลัพธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น สถานศึกษาต้องหมั่นตรวจสอบว่ามีข้อจำกัดในการเรื่องใดบ้างที่จะต้องนำมาคิดพิจารณา มีส่วนใดบ้างที่จะต้องนำมาเป็นโอกาสในการปรับปรุงและแก้ไขได้อย่างดีและมีความโปร่งใส การประเมินผลลัพธ์ของการดำเนินงานนั้นจะต้องมีการประเมินตั้งแต่ระดับนโยบาย หลักสูตรการจัดการเรียนรู้ และที่สำคัญการประเมินผู้คนในสถานศึกษาเพื่อสร้างงานที่มีประสิทธิภาพ มิใช่การประเมินเพื่อบั่นทอนสภาวะจิตใจแต่อย่างใดทั้งสิ้น
บทสรุป
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเป็นเพียงปัจจัยพื้นฐานที่สามารถส่งผลให้สถานศึกษาทุกระบบทุกระดับมีการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความพร้อมเพื่อรองรับต่อทุกสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อมพึงตระหนักว่า สถานศึกษาไม่ได้ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด พฤติกรรมการบริโภคทางการศึกษาของผู้คนต่างหากที่ทำให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลง…จริงไหมครับเจ้านาย
ธงชัย สมบูรณ์
"สมบูรณ์" - Google News
July 29, 2020 at 11:33PM
https://ift.tt/3hQ8Bl4
สถานศึกษา : การสร้างค่าองค์กรสมรรถนะสูง : โดย ธงชัย สมบูรณ์ - มติชน
"สมบูรณ์" - Google News
https://ift.tt/3cUwc1Q
Home To Blog
No comments:
Post a Comment